วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

งานระบบสุขาภิบาลที่ควรรู้

ระบบสุขาภิบาลสำหรับอาคาร

ระบบสุขาภิบาล เป็นงานระบบประกอบอาคารที่เมื่อเปรียบเทียบกับระบบประกอบอาคารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า-ปรับอากาศ จะมีราคาในการก่อสร้างน้อยกว่าแต่เมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จสมบรูณ์กลับทำให้ผู้ใช้อาคารเกิดความลำบากหรือแม้กระทั่งหงุดหงิดใจมากกว่าระบบอื่นเช่นกัน
ความรู้สึกหงุดหงิดใจมาจากการใช้งานแล้วประสบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกดชักโครกไม่ค่อยลง น้ำไหลไม่แรงพอที่จะใช้ฝักบัวอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมการทำงานและการติดตั้งระหว่างการก่อสร้างขาดการดูแลที่ถูกต้อง ดังนั้นลองตรวจสอบดูวิธีการควบคุมงานในส่วนงานระบบสุขาภิบาลกัน

การเตรียมงานระบบสุขาภิบาล
งานระบายน้ำภายนอกอาคาร
ในการเตรียมงานระบบสุขาภิบาลส่วนแรกที่มักจะถูกละเลยคือเรื่องของระดับ เนื่องมาจากระบบสุขาภิบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบน้ำเสียและน้ำโสโครกถูกกำหนดให้ของเหลวในระบบท่อเคลื่อนที่โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ดังนั้นการกำหนดระดับของท่อจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ความชันของท่อที่เกิดจากการกำหนดระดับที่เริ่มกับระดับสุดท้ายที่แต่ต่างกันจะทำให้เกิดความเร็วในการไหล ถ้าชันน้อยเกินไปการโกรกหรือความเร็วของของเหลวในท่อจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการชะของตะกอนที่มากับของเหลวในท่อ โอกาสที่จะอุดตันเมื่อมีการใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่งย่อมมีสูงหรือแม้จะไม่อุดตัน การไหลของของไหลในเส้นท่อก็จะไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในระบบสุขาภิบาลจึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบระดับที่เกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบระดับทางระบายน้ำด้านหน้าโครงการ เพื่อย้อนการกำหนดระดับเทียบกับระยะทางกลับมายังจุดเริ่มต้นของการระบายออกจากอาคาร นั้นคือการทำ SHOP DRAWING ของการระบายน้ำของโครงการ เมื่อใดที่ไม่มีการ

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

สัญญาทางปกครองควรให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือไม่

1. บทนำ
ประเทศไทยได้มีการนำเอาวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้เป็นเวลานานแล้ว เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น ระยะเวลาในการระงับข้อพิพาทที่สั้นกว่ากระบวนการทางศาล การเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า และที่สำคัญคือ คู่ความสามารถเลือกผู้ที่จะเข้ามาชี้ขาดข้อพิพาทเหล่านั้น ที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่มีความชำนาญในด้านต่างๆเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดเพื่อให้ข้อพิพาทยุติโดยเร็ว
พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 15 ว่า “ ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตามคู่ สัญญาอาจตกลงให้ใช้ วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ และ ให้สัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา ” แต่สัญญาสัมปทานในกฎหมายไทยถือเป็นสัญญาทางปกครองจึงต้องคำนึงถึงหลักการต่างๆ ในกฎหมายปกครองประกอบด้วย สัญญาทางปกครองมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวพันกับบริการสาธารณะ และในหลายกรณีก็เกี่ยวพันกับการใช้อำนาจของรัฐโดยตรงไม่เหมือน กับสัญญาทางแพ่งระหว่าเอกชนทั่วไปการนำเอาข้อตกลงว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้ในสัญญาทางปกครองจึงไม่อาจใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบ

2. การระงับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง
2.1 บทเรียนราคาแพง
ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนอยู่จำนวนมาก และมีจำนวนหนึ่งเมื่ออนุญาโตตุลาการตัดสินให้รัฐแพ้ และรัฐต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้กับเอกชน ที่เรียกกันจนติดปากว่า “ค่าโง่” นั้นเอง

ตัวอย่างของ “ ค่าโง่ ” จากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่รัฐต้องจ่ายจำนวนมหาศาลในหลายๆ กรณี เช่น
- กรณีหวยออนไลน์ 2,000 กว่าล้านบาท
- กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1,000 กว่าล้านบาท
- กรณีทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี 6,200 ล้านบาท
- กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 20,000 กว่าล้านบาท
- กรณีรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ 12,388 ล้านบาท
- กรณีเตาปฏิกรณ์ปรมาณูองค์รักษ์ 6,600 ล้านบาท
- กรณีรถดับเพลิง กทม. 6,600 ล้านบาท
ดังนั้นในการประชุม ครม. วันที่ 28 ก.ค. 52 ค.ร.ม. พิจารณาเห็นว่าปัจจุบันการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนในกรณีต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ หรือ การให้สัมปทานของรัฐได้มีการตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการแล้ว ส่วนใหญ่หน่วยงานของรัฐจะเป็นฝ่ายแพ้คดี หรือเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรให้ปรับปรุงมติ ค.ร.ม. วันที่ 27 ม.ค.47 ( เรื่องการทำสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน ) จึงมีความต้องการที่จะแก้ ปัญหาค่าโง่นี้โดยการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยการห้ามนำเอาระบบระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนทุกประเภท ไม่ว่าสัญญานั้นจะเป็นสัญญาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนั้นในส่วนของบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากรัฐเอง ก็มีความคิดเห็นว่าข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองหากได้ฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองแล้วรัฐจะไม่แพ้ หรือจะแพ้ก็คงจะให้ชดเชยค่าเสียหายที่ไม่มากเท่ากับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เพราะเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ ความคิดเห็นดังกล่าวมองว่าระบบศาลปกครองให้ความ สำคัญกับประโยชน์สาธารณะ และ จะไม่ให้เอกชนเอาเปรียบราชการ แต่เมื่อมองมุมกลับ ผู้ประกอบการเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างประเทศจะเกิดความรู้สึกว่าศาลปกครองของประเทศไทยมีความเป็นกลางหรือไม่

2.2 สัญญาทางปกครองควรให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือไม่
สัญญาทางปกครองควรให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้ แต่ประเด็นข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองบางประเด็น กล่าวคือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์โดยตรงไม่ควรให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ เพราะแม้จะมีกฎหมายกำหนดถึงระบบอนุญาโตตุลาการเอาไว้ แต่การคัดเลือกตัวบุคคลก็เป็นไปตามอัธยาศัยของคู่กรณี การทำงานของอนุญาโตตุลาการก็เป็นลักษณะเฉพาะกิจ และ ความรับผิดชอบต่างๆ ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้แน่ชัด ดังนั้นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะด้วยเหตุผลหลายประการไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการ กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นเรื่องลับไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาทางปกครอง จึงถูกตั้งคำถามว่าควรระงับข้อพิพาทด้วยวิธีทางอนุญาโตตุลาการหรือไม่
แต่ระบบการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล และใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นถ้าประเทศไทยกำหนดนโยบายมิให้มีข้อสัญญาระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโต- ตุลาการในสัญญาทางปกครอง จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศของไทยในอนาคตได้ รัฐยังไม่เชื่อมั่นกับระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศของตนเองแล้วผู้ประกอบการต่างประเทศจะเชื่อมั่นในระบบอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยได้อย่างไร
ดังนั้นจึงควรให้มีข้อสัญญาในการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองโดยแก้ไขสาเหตุของปัญหาไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้มีความรู้ความเข้าใจในด้านบริการสาธารณะ เข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทโดยวางกฎเกณฑ์ในการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการโดยกำหนดคุณสมบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสัญญาที่เป็นข้อพิพาท โดยเน้นให้หน่วยงานของรัฐเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้นและขณะเดียวกันก็ควรให้ประชาชน และสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการ ส่วนวิธีพิจารณาควรปรับเปลี่ยนให้มีการเปิดเผยเป็นการทั่วไปให้ประชาชนได้รู้ในทุกขั้นตอน โดย เฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ในระยะยาว ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทางปกครอง เพื่อวางกฎเกณฑ์ในการทำสัญญา ปฏิบัติตามสัญญา และ ชี้ขาดข้อพิพาทในสัญญาทางปกครองโดยหากสมควรให้มีอนุญาโตตุลาการในคดีสัญญาทางปกครองก็จะต้องกำหนดคุณสมบัติ วิธีการได้มาและความรับผิดชอบในการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการไว้อย่างชัดเจน

2.3 ต้นแบบสัญญาทางปกครอง
แม้แต่ต้นแบบยังมิอาจต้านทานกระแสเศรษฐกิจข้ามชาติ
สัญญาทางปกครองเป็นแนวความคิดที่เรารับมาจากระบบกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศส ที่แยกสัญญาในระบบปกติทั่วๆไป ออกจากสัญญาทางปกครองเพราะมีวัตถุ- ประสงค์ที่ต่างกัน คือสัญญาทางปกครองมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ ฝ่ายปกครองคู่สัญญาไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่ทำสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในขณะที่สัญญาในระบบกฎหมายเอกชนมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคู่สัญญา ด้วยเหตุดังกล่าว สัญญาทางปกครองจึงอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายพิเศษที่แตกต่างจากสัญญาทั่วๆไป ส่วนการนำอนุญาโตตุลาการมาใช้กับสัญญาทางปกครองนั้น ในอดีตฝรั่งเศสไม่ยอมรับการนำเอาระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้กับสัญญาทางปกครอง เพราะฝรั่งเศสเชื่อมั่นในระบบศาลปกครองของตน และเชื่อมั่นในสถานะของรัฐที่อยู่เหนือเอกชน เมื่อเกิดข้อพิพาทแล้วจะต้องให้ “องค์กรของรัฐ” เป็นผู้ตัดสินไม่ใช่ให้เอกชนซึ่งเป็น “ผู้อยู่ใต้ปกครอง” มาเป็นผู้ตัดสิน แต่อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1986 ประเทศฝรั่งเศสเองก็ไม่สามารถต้านทานกับกระแสเศรษฐกิจข้ามชาติได้ จึงมีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งอนุญาตให้ฝ่ายปกครองใช้อนุญาโตตุลาการได้ในกรณีที่ทำสัญญากับต่างชาติ และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ เพราะในปีดังกล่าว Disneyland ต้องการที่จะขยายฐานมายังยุโรป ถ้าฝรั่งเศสต้องการให้ Disneyland มาตั้งในประเทศเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนมหาศาล ก็ต้องให้มีการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาการร่วมทุนระหว่าง Disneyland กับ จังหวัดหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ในที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้นจึงได้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยการเสนอให้มีการออกกฎหมายพิเศษ เพื่อเป็นการยกเว้นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ห้ามนำเอาวิธีอนุญาโตตุลาการมาใช้กับนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรมหาชนได้รับอนุญาตให้นำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ในการระงับข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ

3. บทสรุป
ดังนั้นปัญหาเรื่องการแก้ไขกฎหมายมิให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐของเอกชนก็ควรที่จะทำการศึกษาให้ละเอียดว่า “ค่าโง่” เกิดจากอะไรบ้างเช่นข้อสัญญา วิธีการชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่ใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและมีอยู่ในวันที่เกิดข้อพิพาท หรืออาจเป็นที่คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการภาครัฐที่ เจนจัดสู้อนุญาโตตุลาการภาคเอกชนไม่ได้ การทบทวนระบบสัญญาระหว่าง รัฐ กับ เอกชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูประบบการเมือง และ การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสของระบบให้เกิดความเป็นธรรม สำหรับประชาชนผู้เสียภาษีอากร และผู้ใช้บริการ รวมถึงเพื่อให้เข้ากับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อความอยู่รอดของประเทศต่อไป

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซต์ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็ปไซด์กูเกิลล์ ที่ให้ผู้เขียนได้ใช้สำหรับเป็นแหล่งเครื่องมือหลักในการสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนบทความฉบับนี้ รวมถึงนักวิชาการและนักปฏิบัติทางการกฎหมายทั้งหลายที่มิได้เอ่ยนามในบทความนี้ที่ได้เสียสละเวลาในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไว้ในเว็ปไซด์ต่าง ๆ
ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย ที่ให้โอกาสผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการอนุญาโตตุลา- การกับงานวิศวกรรม จึงทำให้เกิดบทความ สัญญาทางปกครองควรให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง
[1] ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 26 มีนาคม พ.ศ.2547. การอุดช่องโหว่ วิธีอนุญาโตตุลาการ บทเรียนจาก “ทางด่วน-ไอทีวี”. มติชนรายสัปดาห์, ปีที่ 24 ฉบับที่ 1232.
[2] ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, อนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน, 20 กรกฎาคม พ.ศ.2552 , http : //www.innnews.co.th
[3] คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวีกับผลผูกพันที่มีต่อคู่สัญญา, http : //www.pub-law.net
[4] การทุจริต ผลประโยชน์ของชาติ กับปัญหาสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน, 25 มีนาคม พ.ศ. 2549, http : www.abhisit.org